วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ลีลาวดี ดอกไม้กลิ่นหอม



ต้นลีลาวดี หรือ ต้นลั่นทม ถือว่าเป็นไม้ดอกกลิ่นหอมที่นิยมปลูกกันมากในสวนทั้งในสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งสวนในบ้าน ถึงแม้ว่าตามตำราความเชื่อจะบอกว่า "ไม่ควรปลูก" ไม้ดอกชนิดนี้ไว้ในบ้านก็ตาม เนื่องจากชื่อเดิมคือ "ลั่นทม" ไปพ้องกับคำว่า "ระทม" ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น "ลีลาวดี" ไม้ดอกชนิดนี้ จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เจ้าของบ้าน รวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบไม้ดอกนิยมปลูกกัน

ลักษณะของต้นลีลาวดี

 ลีลาวดีเป็นไม้ดอกที่มีสีสันสวยงาม ไม่หลากหลายสีให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น ขาว เหลืองอ่อน แดง ชมพู ฯลฯ  บางดอกก็มีมากกว่า 1 สี นอกจากนี้ความพิเศษของลีลาวดีที่หลาย ๆ คนตกหลุมรัก น่าจะเป็นกลิ่นหอมนุ่ม ๆ ของมัน ที่ไม่หอมเตะจมูกจนเกินไป แต่หอมหวานกำลังดี อีกทั้งบางคนยังชื่นชอบลักษณะลำต้น ที่กิ่งก้านกระจายไม่แน่นหนา ทำให้แสงและเงาจากดวงอาทิตย์ส่องผ่านมาได้รำไร ๆ 

  สำหรับต้นลีลาวดี มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา พบในบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ประเทศเม็กซิโกตอนใต้ถึงตอนเหนือของทวีปอเมริกา มีขนาดตั้งแต่พุ่มเตี้ยแคระสูงประมาณ 0.9 - 1.2 เมตร จนถึงต้นที่สูงมาก และบางต้นอาจสูงถึง 12 เมตร 
  ลำต้น แตกกิ่งก้านสาขาและพุ่มใบสวยงาม มีน้ำยางสีขาวข้น เป็นไม้ผลัดที่สลัดใบในฤดูแล้ง ก่อนที่จะผลิดอกและผลิใบรุ่นใหม่ 

   กิ่ง ถ้าหากเป็นกิ่งที่ยังไม่แก่ จะมีสีเขียวอ่อนนุ่ม ดูเกือบจะอวบน้ำ ส่วนกิ่งแก่มีสีเทามีรอยตะปุ่มตะป่ำ กิ่งไม่สามารถทานน้ำหนักได้ กิ่งเปราะ เปลือกลำต้นหนาต้นที่โตเต็มที่แล้วจะพัฒนาจนกระทั่งมีความแข็งแรงมากขึ้น

   ใบ เป็นใบเดี่ยว มีการเรียงตัวแบบสลับและหนาแน่นใกล้ปลายกิ่ง มีลักษณะแตกต่างกันไปทั้งรูปร่าง ขนาด สี และความหนาแน่น โดยทั่วไปใบจะหนา เหนียวแข็ง และมีสีตั้งแต่สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม มีเส้นกลางใบแตกสาขาออกไปคล้ายขนนก ขนาดใบแตกต่างกัน

   ช่อดอก ดอกจะผลิออกมาจากปลายยอดเหนือใบ เห็นเป็นช่อดอกใหญ่สวยงาม แต่ก็มีบางชนิดที่ออกช่อดอกระหว่างใบ หรือใต้ใบบางชนิดห้อยลงบางชนิดตั้งขึ้น ในหนึ่งช่อจะมีดอกบานพร้อมกัน 10 – 30 ดอก บางต้นที่มีความสมบูรณ์เต็มที่อาจมีดอกมากกว่า 100 ดอก ต่อ 1 ช่อ 

   ลีลาวดี จะออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน บางพันธุ์สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีลักษณะของ ดอก โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่ถึงกลาง ยกเว้นบางพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ



ประโยชน์ของต้นลีลาวดี
   แน่นอนว่า ประโยชน์ของ ต้นลีลาวดี นอกจากจะให้ร่มเงา ให้ดอกสีสันสวยงาม และมีกลิ่นหอมแล้ว รู้ไหมว่า พันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อจัดสวน และ ตกแต่งภูมิทัศน์มากที่สุดนั้นก็คือ "พันธุ์ขาวพวง" ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปีด้วยนะ ส่วนสรรพคุณทางยาของ ต้นลีลาวดี ก็มีมากไม่แพ้ต้นไม้อื่น ๆ เลย

สรรพคุณของต้นลีลาวดี

 ต้น ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคลำไส้พิการของม้า
 ใบ ใบแห้งชงน้ำร้อนดื่มรักษาโรคหอบหืด ใบสดลนไฟประคบร้อนแก้ปวด บวม
 เปลือกราก เป็นยารักษาโรคหนองใน ยาถ่าย แก้โรคไขข้ออักเสบ ขับลม
 เปลือกต้น ต้มเป็นยาถ่าย ขับระดู แก้ไข้ แก้โรคโกโนเรีย หรือผสมกับน้ำมันมะพร้าว, ข้าว, มันเนยเป็นยาแก้ท้องเดิน ยาถ่าย ขับปัสสาวะ
 ดอก ใช้ทำธูป ใช้ผสมกับพลูเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
 เนื้อไม้ เป็นยาแก้ไอ ยาถ่าย ขับพยาธิ 
 ยางจากต้น เป็นยาถ่าย รักษาโรคไขข้ออักเสบ ใช้ผสมกับไม้จันทน์และการบูรเป็นยาแก้คัน แก้ปวดฟัน

การดูแลรักษาต้นลีลาวดี

     ต้นลีลาวดี สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่กันดาร ดินไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก แต่ถ้าต้องการให้ลีลาวดีออกดอกได้ดีควรนำไปปลูกในกระถางและใช้ดินที่เป็นกรดเหมือนกับพืชเขตร้อนทั่วไป ลีลาวดีชอบความชื้นในอากาศสูงและไม่ชอบอยู่ในดินที่มีน้ำท่วมขังหรือมีการรดน้ำบ่อยครั้ง การปลูกควรเน้นการระบายน้ำหรือการยกร่องในแปลงปลูกเป็นหลัก ลีลาวดีเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดในเวลากลางวันอย่างน้อยครึ่งวัน แต่หลายชนิดต้องการแสงแดดเต็มวัน ยกเว้นบางชนิดที่มีดอกสีแดงซึ่งจะชอบการพรางแสงมากกว่า

         1. การให้น้ำ

การปลูกในกระถาง : การให้น้ำควรรดให้ดินเปียกทั่วถึง จนน้ำส่วนเกินถูกระบายออกมาทางรูระบาย สำหรับการรดน้ำนั้น ควรรดวันเว้นวัน 

การปลูกลงดิน : ควรให้น้ำแต่น้อยให้ประมาณสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นในอากาศ  ถ้าอากาศร้อนควรให้น้ำมากกว่าปกติ เพื่อรักษาความเขียวของใบ แต่การให้น้ำมากเกินอาจจะส่งผลให้ลีลาวดีไม่ออกดอก 
         
          2. การให้ปุ๋ย

ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมในอัตราส่วนที่เท่ากัน เนื่องจากต้นลีลาวดี เป็นต้นไม้ที่รูปทรงสวยงาม ถ้าหากให้ไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้ลำต้นสูงชะลูดดูไม่สวยงาม สำหรับธาตุอาหารรองที่จำเป็นต่อลีลาวดีนั้น คือ แมกนีเซียม ทองแดง เหล็ก สังกะสี กำมะถัน และแมงกานีส



ขอบคุณข้อมูล คลิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น